InfoQuest – นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 35.10/11 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก ช่วงเช้าที่ระดับ 35.39 บาท/ดอลลาร์ เงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้า หลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจาก การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง สัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญในประเทศที่ต้องติดตาม คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 29 พ.ย. ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า กนง.รอบนี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ตามเดิม นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.05 – 35.35 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 149.24/26 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 149.20 เยน/ดอลลาร์ – เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0945/0950 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0939 ดอลลาร์/ยูโร – ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ 1,393.42 จุด ลดลง 4.01 จุด (-0.29%) มูลค่าการซื้อขาย 36,302.87 ล้านบาท – สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 637.34 ลบ. – กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนต.ค.66 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 23,578 ล้าน ดอลลาร์ ขยายตัว 8% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,411 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้ เดือนต.ค.ไทยขาดดุลการค้า 832 ล้านดอลลาร์ – ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่า การส่งออกของไทยในช่วง 2 ที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.66) จะยังสามารถขยายตัว เป็นบวกได้ ส่งผลให้ทั้งปี 66 การส่งออกไทย จะติดลบเล็กน้อยที่ราว -1% ส่วนในปี 67 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 2% – สภาพัฒน์ เผย ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/66 พบว่า การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 1.3% จากการเพิ่มขึ้นของการจ้าง งานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.99% แต่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้สินครัวเรือนใน ไตรมาส 2/66 มีสัดส่วนอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี หรือเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 – ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ออกโรงเตือนว่า ตลาดการเงินโลก อาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ อันเนื่องมา จากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่สูงขึ้น และความเปราะบางที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ดี สิงคโปร์สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายได้เป็นอย่าง ดี เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ธุรกิจและครัวเรือนส่วนใหญ่ สามารถจัดการกับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ สูงขึ้นได้ – อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ ประเภท 3 เดือนของฮ่องกง หรือ HIBOR ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนในการระดมทุนของฮ่องกง พุ่งขึ้น 0.15% แตะระดับ 5.53% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2550 เนื่องจากความต้องการเงินสดในช่วง ปลายปีปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดอินเตอร์แบงก์ของฮ่องกง อยู่ในภาวะตึงตัวมากขึ้นในขณะนี้ – ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะรายงานคืนนี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค. และดัชนีการผลิตเดือนพ.ย. จากเฟดดัลลัส ส่วนคืนพรุ่งนี้ จะมีการรายงาน ราคาบ้านเดือนก.ย. จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. จาก Conference Board และดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ย. จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์
กดอ่านข่าวต้นฉบับจาก InfoQuest